คิดว่าเป็นโรคเก่า เชย ล้าสมัยใช่มั้ยคะ? ผิดถนัดค่ะ เพราะทุกวันนี้หมอก็ยังคงต้องให้การรักษาเด็กๆ ที่ติดหิด-เหามาอยู่เรื่อยๆ เลยนะคะ
เหา-หิด ไม่ติดเอาเท่าไหร่
หิด เป็นโรคแรกที่มนุษย์สามารถหาได้ว่าต้นเหตุของโรคคือไรตัวเล็กๆ หิดตัวเมียที่ตัวโตเต็มวัยจะมีขนาดประมาณ 0.4 มิลลิเมตร มีขา 4ขา ตัวเป็นรูปครึ่งทรงกลม
อาการของหิด คือ คันมากโดยเฉพาะเวลากลางคืน แรกๆจะเป็นตุ่มแดงเล็กๆ บางตุ่มใสใส บางตุ่มแตกลอกเป็นสะเก็ด ถ้าเห็นเป็นรอยทางที่หิดขุดไปบนผิวหนังก็จะวินิจฉัยได้ชัดเจน ในเด็กอายุมากกว่า 1 ปีถ้าเป็นหิดมักพบที่ง่ามระหว่างนิ้วมือ ข้อมือส่วนที่ผิวบาง รักแร้ ข้อเท้า ก้น สะดือ ขอบกางเกง และขาหนีบ
หิดทำให้คันเพราะมันจะปล่อยสารย่อยสลายชั้นผิวหนัง เพื่อขุดหลุมวางไข่บนผิวหนัง และถ่ายอุจจาระไปด้วย การติดต่อเกิดขึ้นได้โดยการสัมผัสผู้ที่เป็นหิดอย่างใกล้ชิดเป็น เวลานานพอควร ส่วนการรักษานั้น แพทย์จะให้ครีมหรือโลชั่นที่มีตัวยาฆ่าตัวหิด (permethrin หรือ lindane )เพื่อทาบริเวณที่เป็น หลังรักษาแล้ว 1 วัน มักจะไม่มีการติดต่อของตัวหิดอีก แต่อาการคันจะยังคงมีอยู่ต่อไปได้อีกหลายวัน แพทย์จะสั่งยาทาบรรเทาอาการให้ ถ้ายังคงคันอยู่เกินสองอาทิตย์หลังรักษา คุณพ่อคุณแม่ต้องพาลูกกลับไปให้หมอดูว่ายังมีตัวหิดหลงเหลืออยู่หรือไม่ค่ะ
หิดนั้นป้องกันได้ง่ายนิดเดียวค่ะ โดยการรักษาความสะอาดของร่างกายและเสื้อผ้า ตลอดจนผ้าปูที่นอน ผ้าห่มและผ้าเช็ดตัวอยู่เสมอ
เหา เป็นสัตว์ตัวเล็กๆที่อยู่บนผม ติดต่อโดยการที่ศีรษะไปอยู่ใกล้ชิดกับศีรษะของผู้ที่เป็นเหา นอกจากนี้ยังติดต่อจากการใช้หวี แปรงแปรงผม หรือ หมวกร่วมกัน เหาจะวางไข่ติดบนเส้นผมห่างจากโคนผมประมาณ 3-4 มิลลิเมตร มักพบบริเวณท้ายทอย และเหนือใบหู ถ้าเด็กเกามาก อาจมีหนังศีรษะอักเสบร่วมด้วยค่ะ
การรักษาก็ใช้ยาชนิดเดียวกับยารักษาหิดค่ะ และต้องรักษาคนที่อยู่ใกล้ชิดทุกคนที่เป็นพร้อมๆกันไปด้วย โดยใช้หวีที่มีซี่ละเอียด (หรือที่เราเรียกว่า "หวีเสนียด") สางไข่เหาออก ส่วนเสื้อผ้าและเครื่องนอนก็ควรซักด้วยน้ำร้อน หรือต้มแล้วตากแดด หวีที่เคยใช้อยู่ตามปกติก็ต้องทิ้งไป แล้วซื้อมาเปลี่ยนใหม่ดีที่สุดค่ะ
พยาธิลำไส้ เด็กในวัยเรียนมีโอกาสเล่น และคลุกคลีกับพื้นดินตลอดเวลา ถ้าเด็กไม่ได้ล้างมือให้สะอาดหลังจากเล่นในสนาม แล้วเอามือนั้นไปหยิบอาหารเข้าปาก ก็อาจได้รับไข่พยาธิเข้าไปในร่างกายได้ค่ะ
พยาธิที่พบบ่อยที่สุดในเด็กวัย 3-6 ปี คือ พยาธิไส้เดือนทั้งนี้เพราะการติดต่อของพยาธินี้ผ่านไปทางดินที่ปนเปื้อนไข่พยาธิ ไข่พยาธิจะถูกขับถ่ายออกมากับอุจจาระของคนที่มีพยาธิอยู่ในตัว เมื่อไข่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ตัวอ่อนของพยาธิในไข่จะเจริญจนโตพร้อมจะฟัก ถ้าเด็กๆเอามือที่เปื้อนไข่พยาธิเข้าปาก ไข่พยาธิก็จะไปฟักเป็นตัวอ่อนในลำไส้ ไชผ่านเข้าไปในปอด ออกมาสู่หลอดลมแล้วถูกกลืนลงในลำไส้อีก เมื่อถึงลำไส้เล็กพยาธิจะเจริญเป็นตัวแก่ มีการผสมพันธุ์กันและออกไข่ปนออกมากับอุจจาระ
เด็กที่มีพยาธิไส้เดือนในลำไส้อาจจะไม่มีอาการอะไรเลยก็ได้ เด็กอาจจะบ่นปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืด ในรายที่มีพยาธิจำนวนมากในลำไส้จนพยาธิพันกันเป็นก้อนกลม ก็อาจทำให้เกิดอาการของลำไส้อุดตันได้ แต่ก็พบได้น้อยมากค่ะ และในรายที่พบนั้น เด็กจะมีอาการเกิดแบบฉับพลัน คือปวดท้องมากและอาเจียนเป็นสีน้ำดี
พยาธิอีกชนิดหนึ่งคือ พยาธิปากขอ บริเวณปากของพยาธิชนิดนี้จะมีฟันไว้ยึดเกาะกับผนังของลำไส้เล็ก ไข่ของพยาธิปากขอจะออกมากับอุจจาระ และฟักเป็นตัวอ่อนในดินที่ชื้นแฉะและมีอุณหภูมิเหมาะสม ตัวอ่อนของพยาธิจะเข้าสู่ร่างกายโดยการไชเข้าทางผิวหนังหรือถูกกลืนลงในกระเพาะอาหาร พยาธิตัวแก่จะใช้ปากยึดเกาะกับผนังลำไส้และทำให้มีการเสียเลือดออกไปทีละน้อยๆ ถ้ามีพยาธินี้อยู่นานๆจึงทำให้เด็กเสียเลือดจนซีดได้ค่ะ
พยาธิปากขอจะพบมากทางภาคใต้ของประเทศไทย เพราะสภาพอากาศร้อนและชุ่มชื้น ถ้าเด็กไม่สวมรองเท้าเดินบนพื้นดินที่ชื้นแฉะก็มีโอกาสที่ตัวอ่อนของพยาธิปากขอที่อยู่ในดินจะไชเข้าทางเท้าได้
เราสามารถป้องกันลูกจากการติดเชื้อพยาธิลำไส้เหล่านี้ได้โดย
* การล้างมือทุกครั้งหลังจากเล่น หรือขุดดิน
* ก่อนรับประทานอาหารต้องล้างมือให้สะอาด
* ตัดเล็บให้สั้น
* และควรสวมรองเท้าทุกครั้งที่เดินหรือวิ่งบนพื้นดิน
* นอกจากนี้ ควรพิจารณาให้ยาถ่ายพยาธิแก่เด็กวัย 2 ปีขึ้นไป อย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้งด้วย โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถขอคำแนะนำในการให้ยาถ่ายพยาธิจากคุณหมอประจำตัวของลูก หรือจากเภสัชกรประจำร้านขายยาได้เสมอ หากไม่แน่ใจในวิธีการให้ค่ะ
หวังว่าเปิดเทอมใหม่นี้ คุณพ่อคุณแม่จะมีความสุขกับการได้เห็นลูกรักไปโรงเรียนและมีสุขภาพแข็งแรงไปพร้อมๆ กันนะคะ
จาก: เวปรักลูก
Wednesday, May 20, 2009
โรคฮิตรับเปิดเทอม (ตอนจบ)
>
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
2 comments on "โรคฮิตรับเปิดเทอม (ตอนจบ)"
Test comment
Test again for comment.
Post a Comment