Wednesday, May 20, 2009

โรคฮิตรับเปิดเทอม (ตอน 2)


>


ฟังดูแล้วน่ากลัวจังนะคะโรคพวกเนี๊ย แต่ถ้าเราคอยดูแลเด็ก ๆ ของเราแล้วคิดว่าไม่น่าจะเป็นอะไรนะคะ เราดูกันต่อเลยค่ะว่าโรคฮิตที่ว่านั่นน่ะ เราสามารถรับมือกับมันได้อย่างไรค่ะ

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ
เดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนเป็นช่วงที่เด็กๆเริ่มเปิดภาคเรียนใหม่ และตรงกับช่วงเปลี่ยนจากฤดูร้อนเป็นฤดูฝนด้วย ด้วยสองสาเหตุนี้จึงทำให้เด็กๆเป็นโรคทางเดินหายใจอักเสบกันบ่อย
โรคหวัดจะพบได้บ่อยในช่วงสองถึงสามปีแรกที่ลูกเข้าโรงเรียนใหม่ๆ ส่วนใหญ่ก็คือเด็กวัยอนุบาล บางคนเป็นหวัดบ่อยถึงเดือนละ ๑-๒ ครั้ง แต่เมื่ออายุเกิน ๖ ขวบไป แล้วคือเด็กวัยประถมศึกษา ก็จะเป็นหวัดน้อยลงเหลือเพียงปีละ ๒-๓ ครั้งเท่านั้นค่ะ
เชื้อที่เป็นสาเหตุของหวัดส่วนใหญ่เป็นไวรัส อาการที่สำคัญคือ มีน้ำมูกใสๆไหล จาม คัดจมูก บางคนครั่นเนื้อครั่นตัว อาจมีอาการไอตามมาทีหลังได้ อาการไข้มักจะไม่สูงมากและเป็นอยู่ไม่เกิน ๓ วัน อาการหวัดมักจะหายไปเองใน ๓-๔ วันหรืออย่างมากไม่เกิน ๗ วัน
เด็กที่เป็นหวัดหลายวันแล้วกลับมีไข้ขึ้นสูง ต้องคำนึงถึงโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียด้วยค่ะ ในกรณีเช่นนี้ควรพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายหาว่ามีการติดเชื้อ อยู่ที่ใด เช่น ที่คอ หูชั้นกลาง หลอดลม และปอด
สารพันปัญหา "หวัด"
ถาม: การที่เด็กเป็นหวัดแล้วมีน้ำมูกสีเขียว แสดงว่าเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียใช่หรือไม่?
ตอบ: นอกจากดูสีแล้วต้องดูลักษณะของน้ำมูกด้วยค่ะ น้ำมูกสีเขียวที่แห้งกรังติดรูจมูกเวลาเช็ดจะร่วงเป็นแผ่นๆ น้ำมูกแบบนี้มักแสดงว่าโรคหวัดกำลังจะหาย ไม่ใช่การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน แต่ถ้าน้ำมูกสีเขียวเป็นยวงเหมือนหนอง น้ำมูกจะไหลยืดออกมาคล้ายลอดช่อง แบบนี้มักเกิดจากเชื้อแบคทีเรียค่ะ

การดูแลเด็กที่เป็นหวัด ควรให้เด็กดื่มน้ำมากๆ และควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ถ้าเป็นไปได้ควรหยุดเรียนจนกว่าจะหายหวัด ทั้งนี้เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่เด็กคนอื่นๆในห้องเรียน

เมื่อลูกป่วย แพทย์ที่ดูแลลูกจะบอกได้ดีที่สุดว่าจะไปโรงเรียนได้หรือไม่ โดยทั่วไปเด็กควรหยุดเรียนถ้ามีไข้ขึ้น ไม่สบายจนนั่งเรียนในชั้นไม่ได้ หรือมีการติดเชื้อที่อาจ แพร่สู่เพื่อนๆได้ง่าย

ถาม: เมื่อเป็นหวัดควรงดว่ายน้ำหรือไม่ และการว่ายน้ำจะทำให้เกิดหูอักเสบมากขึ้นหรือไม่?
ตอบ: หูอักเสบที่พูดถึงโดยทั่วไปคือ หูส่วนกลางอักเสบ ตามปกติคนเราจะมีช่องที่ติดต่อระหว่างหูส่วนกลางกับคอ โดยทั่วไปช่องนี้ไม่มีเชื้อโรค แต่ในเด็กที่เป็นคออักเสบ อาจจะมีการบวมของท่อนี้ ประกอบกับเชื้อที่อยู่ในคอมีโอกาสผ่านเข้าไปในช่องนี้แล้วไปสู่หูส่วนกลาง จึงอาจเกิดการอักเสบของหูส่วนกลางได้

ในคนปกติ การว่ายน้ำหรือน้ำเข้าหูไม่ทำให้เกิดหูอักเสบหรือหูน้ำหนวก เพราะมีแก้วหูปิดอยู่ เวลาดำน้ำมีความแตกต่างของความดันในหูส่วนกลางกับภายนอก ทำให้หูอื้อ เวลากลืนน้ำลายช่องติดต่อนี้จะเปิดออกปรับความดันให้เท่ากัน แต่ในคนที่เป็นหวัด มีการบวมของท่อนี้ ทำให้ท่อนี้เปิดได้ไม่ดี การปรับความดันก็ไม่ดี หูจึงอื้อ และ อาจทำให้เกิดอักเสบได้ง่าย ดังนั้นเด็กที่เป็นหวัดจึงควรงดว่ายน้ำไปก่อนจนกว่าจะหาย หากจะลงว่ายน้ำ ก็ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลเพื่อพิจารณาให้คำแนะนำก่อนค่ะ

ถาม: แล้วโรงเรียนจะช่วยให้เด็กๆติดหวัดกันน้อยลงได้อย่างไร?
ตอบ:
1.จัดให้ห้องเรียนมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ภายในโรงเรียนมีสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่มีฝุ่นละอองหรือควัน
2.หมั่นทำความสะอาดของเล่น และหนังสือที่ใช้ในห้องเรียน
3.จำนวนนักเรียนในห้องไม่ควรแออัดมากเกินไป ชั้นอนุบาลไม่ควรเกินห้องละ 20-30คน
4.นักเรียนแต่ละคนมีของใช้ส่วนตัวที่ไม่ปะปนกัน เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว
5.จัดกิจกรรมสอนให้เด็กรู้จักดูแลสุขภาพง่ายๆ เช่น เวลาไอจามให้ปิดปาก ล้างมือทุกครั้งหลังการเล่นและก่อนรับประทานอาหาร

นอกจากทางโรงเรียนแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็มีส่วนดูแลสุขภาพของลูกด้วยค่ะ โดยให้ลูกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ ทั้งนี้เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทานต่อโรคต่างๆ เมื่อลูกป่วย ก็ไม่ควรฝืนให้ลูกไปโรงเรียน เพราะ นอกจากจะไม่ได้นอนหลับพักผ่อนแล้ว ยังจะเป็นการนำเชื้อไปแพร่ให้เพื่อนๆด้วยค่ะ

*** ติดตามต่อนะคะ ***

0 comments on "โรคฮิตรับเปิดเทอม (ตอน 2)"

Post a Comment

 

Takecare Our Kids with Heart Copyright 2008 All Rights Reserved Baby Blog Designed by Ipiet | All Image Presented by Tadpole's Notez